vimarsana.com

Card image cap


พร้อมทำงานเก้าอี้นายกฯ “สุดารัตน์” มั่นใจแก้ได้ ทุกคนต้องมีสิทธิเลือกวัคซีนและฉีดฟรี
บันทึก
SHARE
ต้องเร่งสั่ง mRNA อย่างน้อย 100 ล้านโดส มาคู่กับแอสตราเซเนกา เพื่อใช้เป็นวัคซีนหลัก และประชาชนต้องมีสิทธิเลือกวัคซีน รวมถึงฉีดฟรีทุกคน แนะให้ยาต้านไวรัส ไม่ต้องรอให้เชื้อลงปอด
รัฐบาลต้องฟังเสียงร้องไห้ของประชาชน ทลายคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่างๆ วันนี้ไม่ใช่เวลาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต้องรวมสรรพกำลังทุกคนมาช่วยนำพาคนไทยออกจากมหาวิกฤติให้ได้
พร้อมทำงานในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” มั่นใจแก้ปัญหาได้ จะไม่ยอมปล่อยให้มีคนตายคาบ้านหรือกลางถนน และจะทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำในปัจจุบันนี้ทั้งหมด
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศขณะนี้ ที่แม้จะสั่งล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว งดเดินทาง ปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ ไปแล้ว 13 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รวมถึงการรวมอำนาจกฎหมาย 33 ฉบับมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
การบริหารจัดการการควบคุมการระบาด การแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน มีความผิดพลาดบกพร่องหรือไม่ ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤติในขณะนี้อย่างไรก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะล่มสลาย บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าต่างแสดงออกถึงความอ่อนล้าหลังรับมือกันมานาน และประชาชนที่ต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดคำถามว่ารัฐบาลมีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการโรคระบาดและหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพดีในเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องทำอย่างไร ซึ่ง
“คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยผ่านวิกฤติโรคระบาด ได้วิเคราะห์และให้คำตอบไว้ดังนี้
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ต้องเปลี่ยนวัคซีนหลักเป็น mRNA คู่กับ AstraZeneca
การบริหารจัดการสถานการณ์โควิดและวัคซีนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผิดพลาดจนเกิดความล้มเหลวต่อประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หากย้อนไปเมื่อปลายปี 2563 เคยออกมาเตือนขณะที่ยังสามารถควบคุมการระบาดในช่วงปีใหม่ได้ว่า
“อย่าตายใจเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน” เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เร็วมาก แล้วก็คงจะยังอยู่กับเราโดยที่ยังอันตรายอยู่ 2-3 ปี กว่าที่จะพัฒนาวัคซีนหรือยาที่จะควบคุมโรคนี้ให้สยบลงจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคประจำฤดูทั่วไปเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ที่เคยทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
ดังนั้น ต้องมองตั้งแต่จะทำอย่างไรให้คนไทยสามารถมีชีวิตอยู่กับโควิด-19 ในช่วง 1-3 ปีนี้ได้อย่างพอที่จะปลอดภัยในแบบ New Normal คืออาจจะยังต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง แต่พอที่จะทำมาหากินได้ กลับมาใช้ชีวิตปกติ เดินทางไปมาหาสู่ ไปทำงาน เปิดการค้า เปิดการเดินทางท่องเที่ยวได้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหนักไปกว่านี้ พยายามบอกมาตลอดว่าต้องเตรียมแผนจัดการวัคซีน ขณะนั้นช่วง ม.ค. 2564 มีการทำแผนให้กับรัฐบาลทราบว่าควรจะต้องบริหารจัดการอย่างไร เพราะเห็นว่ารัฐบาลนอนใจเกินไป หากรัฐบาลรับฟังแล้วปรับแผนจะไม่หนักอย่างนี้ และปัจจุบันยังมีความผิดพลาดเรื่องการจัดการวัคซีนอยู่ 2 เรื่องใหญ่ที่จะต้องแก้
1.
ชนิดของ “วัคซีนหลัก” ที่เลือกใช้ ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือซิโนแวค (Sinovac) คู่กับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่เป็นไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) มีงานวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์ออกมาชัดเจนแล้วว่า ซิโนแวค ไม่สามารถที่จะมีประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา ซึ่งในระยะเวลาเพียง 1 ปีพบว่ามีเชื้อกลายพันธุ์กว่า 5-6 สายพันธุ์แล้ว และจะมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง จึงต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลมากขึ้นกว่านี้ในการเป็นเกราะป้องกันเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ได้
สำหรับข้อเสนอต่อข้อบกพร่องเพื่อแก้วิกฤติ คือ ต้องเปลี่ยนเป็นวัคซีนชนิด mRNA คู่กับแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนหลักของประเทศ ณ ตอนนี้ต้องเร่งสั่ง ไม่ใช่สั่ง mRNA เพียง 20 ล้านโดส แล้วยังไปโหมสั่งซิโนแวค ไม่ได้ว่าวัคซีนไม่ดี แต่ซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตายตั้งแต่สายพันธุ์แรก เอามาต่อต้านกันไม่ได้
“ถามว่าสั่งมาจะมีของไหม มีของ รัฐบาลต้องใช้พละกำลัง ทุ่มเทสรรพกำลัง หรือ Put effort ให้มากกว่านี้ในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อต้านกับเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างจริงจังกว่านี้ ช่องทางมีทั้งการทูตและการค้า สามารถขอซื้อตรง ถ้าซื้อไม่ได้ก็ขอยืมก่อน เมื่อได้ส่วนที่จองไว้ก็ใช้คืนเขา เพราะประเทศผู้ผลิตอย่างสหรัฐอเมริกา วัคซีนเหลือประมาณ 25% ก็สามารถที่จะทั้งขอแลกก่อน ขอมาเลยในส่วนที่กำลังจะหมดอายุใน 1-2 เดือนข้างหน้าแล้วเขาคาดว่าฉีดไม่ทัน ซึ่งเขาก็บริจาคมาให้อยู่ เราต้องเร่งเจรจา เพราะวันนี้เราเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงขาขึ้น สูงเป็นลำดับต้นของโลก เราก็อ้างในเหตุนี้ได้ว่าจะขอเจรจาแลกวัคซีน ขอซื้อแบบเร่งด่วน หรือขอบริจาคแบบเร่งด่วนก่อน เพราะปัญหาชัดอยู่แล้วในตัว”
ส่วนตัวมีความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทตรงนี้ และไม่ค่อยอยากจะสั่ง mRNA จึงตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีน mRNA อยู่ในประเทศที่คุมเข้มการใช้ “Sunshine law” คือกฎหมายที่ต้องเปิดเผยกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดว่าการซื้อ-ขายมีค่าคอมมิชชันหรือไม่ ถ้ามี มีเท่าไร ต้องไม่มากเกินที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นข้อสงสัยว่าทำไมถึงไม่ค่อยอยากจะสั่งวัคซีนชนิดนี้ สั่งมาก็แค่ 20 ล้านโดส ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องเปลี่ยนเป็น mRNA คู่แอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนหลักถึงจะต่อต้านเชื้อกลายพันธุ์ได้ โดยต้องสั่ง mRNA อย่างน้อยอีก 100 ล้านโดส วางแผนว่าไตรมาสที่ 3 ไตรมาสที่ 4 จะได้เท่าไร รวมถึงแต่ละไตรมาสของปี 2565 ด้วย อยู่ในวิสัยที่ทำได้
2.
การสั่งวัคซีนช้าและอัตราการฉีดวัคซีน ประเทศไทยมีอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 240,000 โดสต่อวัน หากนำอัตรานี้ไปคิดคำนวณตามแผนของรัฐบาลที่มีเป้าหมายการฉีด 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ กว่าประชาชนจะได้วัคซีนครบ 2 เข็ม คือช่วง ก.ค. 2565 ใช้เวลาปีกว่าตั้งแต่วันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีน เลิกคิดเลยว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่มีทางสร้างได้ ระยะเวลายาวนานเกินไป เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกแล้วว่าเนื่องจากเป็นวัคซีนฉุกเฉิน บางตัวจะมีภูมิคุ้มกันไม่เกิน 6 เดือน บางตัวไม่เกิน 1 ปี
ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมคือต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคนในประเทศไทยตามเป้าหมายให้จบสิ้นภายใน 6-8 เดือน แต่แผนของรัฐบาลจากทั้งอัตราการสั่งวัคซีนและอัตราการฉีด จะได้ครบ 2 เข็ม 50 ล้านคนคือ ก.ค.ปีหน้า ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่เกิด ผลเสียที่ตามมาคือเราจะอมโรคแบบนี้ ติดเชื้อกันระลอกแล้วระลอกเล่า เปิดค้าขายไม่ได้ ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจก็จะพังพินาศไปด้วย
สำหรับเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ทางพรรคไทยสร้างไทย ได้เสนอพิมพ์เขียว คือ ต้องมี mRNA เป็นวัคซีนหลักคู่กับแอสตราเซเนกา ให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือก เร่งการสั่งวัคซีน และฉีดอย่างน้อยให้ได้ 500,000 โดสต่อวัน ถ้าฉีดได้ตามแผนที่เสนอ ธ.ค.ปีนี้ คนไทย 50 ล้านคนแรกตามเป้าหมายจะได้วัคซีน 1 เข็มครบทุกคน และในเดือน ม.ค. 2565 จะครบ 2 เข็ม
หัวใจการคุมโรคระบาด ต้องตรวจ ตรวจ และตรวจเท่านั้น
มาถึงเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดที่ต้องตั้งคำถามว่าทำไมถึงควบคุมไม่ได้เสียที และการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หัวใจของการควบคุมโรค ในประสบการณ์ที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงอย่าง โรคซาร์ส และไข้หวัดนก ซึ่งโดยพื้นฐานโรคไข้หวัดนกยากกว่านี้ เพราะนกบินเข้าประเทศไม่ต้องผ่าน ตม. บินข้ามจังหวัดก็ไม่ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัด จึงระบาดเร็วมาก ในวันเดียวกันไปได้หลายภาค แต่เรายึดหลักระบาดวิทยาอย่างเคร่งครัด
การล็อกดาวน์อย่างเดียวโดยไม่ตรวจหาผู้ติดเชื้อ จะไม่สามารถทำให้การแก้ไขปัญหา การควบคุมโรคระบาดจบลงได้อย่างง่ายดาย
“หัวใจของการคุมโรคระบาด คือการต้องเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อ ตรวจ ตรวจ และตรวจเท่านั้น จึงจะสามารถควบคุมได้” วันนี้เราตรวจน้อยมาก จำนวนเฉลี่ยต่อวัน ในช่วงวันที่ 18-24 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาด การตรวจทั่วประเทศเพียง 69,000 รายต่อวัน ในจำนวนนี้พบว่าจุดเติบโตเชื้อขึ้นไปถึง 16.6% จึงไม่มีทางที่จะควบคุมการระบาดได้เร็ว จึงต้องตรวจให้เร็วที่สุด มากที่สุด เพื่อแยกผู้ติดเชื้อที่มีอาการและไม่มีอาการเข้าระบบ คนไม่มีอาการหรืออาการน้อยก็เข้า Community Isolation หรือการรักษาในเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ส่วนคนที่มีอาการมากก็เข้าโรงพยาบาล เพราะตอนนี้เป็นการระบาดในระดับชุมชนแล้ว โดยเฉพาะชุมชนแออัดทำการแยกกักตัวเองไม่ได้ ก็จะทำให้ติดเชื้อโควิดทั้งบ้าน และกระจายไปในชุมชนอย่างที่ปรากฏภาพอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้
หากตรวจจริงจังผู้ติดเชื้ออาจจะถึง 40,000-50,000 รายต่อวัน จึงต้องใช้ Antigen Test Kit (ATK) มาช่วยตรวจ ถ้าจะให้พื้นที่สีแดงเข้มควบคุมได้ต้องตรวจวันละประมาณ 500,000 ราย ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ วิธีการคือ นำอาสาสมัครภาคประชาชน ผู้นำชุมชน มาอบรมวิธีการ Swab เพราะ ATK ตรวจไม่ยาก แล้วให้แต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้าน มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรับผิดชอบ ไม่ต้องไปแย่งไปออคิวกันตรวจ เมื่อผลพบเชื้อก็ทำรายงานผ่านแอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพ มีคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งมามอนิเตอร์ จากนั้นแยกผู้ติดเชื้อเข้าระบบให้มากที่สุด สิ่งที่ต้องทำคือ Community Isolation โดยใช้วัด โรงเรียน หอประชุมต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชุมชนนั้นๆ ในกรุงเทพมหานครเคยเสนอไปว่าในเขตหนึ่งควรมี 100 แห่ง แต่ละแห่งผู้ป่วยจะได้ไม่มาก
เร่งให้ยาต้านไวรัส ไม่ต้องรอให้เชื้อลงปอด
“สิ่งที่ต้องเร่งทำอีกเรื่อง จากประสบการณ์ไข้หวัดนก คือ ต้องเร่งให้ยาต้านไวรัสเลย เราเห็นอยู่แล้วว่าพอไปพักคอยเตียงเขียวเพื่อรอจะเข้าไปเตียงเหลือง มันไม่ใช่ วิธีการบริหารจัดการอย่างนี้ไม่ใช่ ต้องตัดให้คนหายป่วยตั้งแต่เตียงเขียว คือ ต้องให้ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์เลย สมัยไข้หวัดนก คนที่มีอาการน้อยก็ให้ยาเลย ไม่ต้องรอให้ลงปอด เพื่อที่จะให้เขากลับบ้านตั้งแต่เตียงเขียวได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปนอนรอให้อาการพัฒนาจนหนักขึ้นเพื่อเข้าโรงพยาบาลแล้วค่อยไปรับยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสต้องเอาออกมาให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการแล้วทานดักไว้เลยไม่ให้เชื้อมันลงปอด อย่างนี้จะลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ แล้วก็จะแก้ไขปัญหาเรื่องเตียงขาดแคลนได้”
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งที่ควรจะแก้ไขในข้อบกพร่อง นอกจากนี้ภาพที่ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากไปรอฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สถานีกลางบางซื่อ จนหลายคนเกิดความกังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดหรือคลัสเตอร์ใหม่ในจุดนี้หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า แน่นอน และก่อนหน้านี้ก็เคยแนะนำไปแล้วว่าการฉีดวัคซีนไม่ใช่เรื่องยาก ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลินิกและศูนย์อนามัยจำนวนมาก เฉพาะในกรุงเทพฯ สามารถกระจายจุดฉีดวัคซีนได้ 200-300 แห่ง แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในโรงพยาบาลเพราะเป็นที่ที่ติดเชื้ออยู่แล้ว เราสามารถให้โควตาคลินิกเอกชนและบริหารจัดการโดยสำนักงานเขตได้ว่าใครจะได้ไปฉีดตรงไหน ซึ่งง่ายมาก เพียงแต่แจ้งไปยังประธานชุมชนว่า ชุมชนนี้ไปคลินิกนี้ จัดเวลาจัดคิวให้ทยอยกันไปวันละ 100 คน จะไม่เกิดการแออัด คนไม่ต้องเดินทางไปไกล แต่ไม่รู้ทำไมต้องเอาคนไปรวมกันอยู่ที่เดียว เจ้าหน้าที่ก็เหนื่อยและหนัก รวมถึงเสี่ยงติดโรค เพราะอาจจะมีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอาจจะแพร่เชื้อขณะเดินทางออกไปฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังสามารถอุดหนุนงบลงไปให้กับคลินิกต่างๆ เพื่อรับฉีดวัคซีนให้ประชาชน
ชุดตรวจ ATK ควรแจกฟรีให้ประชาชนได้ตรวจ อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหลักระบาดวิทยาจะต้องตรวจเข้มข้นใน 1 เดือน เพื่อกวาดล้างผู้ติดเชื้อนำเข้าระบบรักษาดูแลให้เร็วที่สุด เสนอให้ตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (4 ครั้งต่อเดือน) ซึ่งในพื้นที่ระบาดเข้มข้นอาจจะมีประมาณ 12 ล้านคน ซื้อชุดตรวจ ATK มาเลย 50 ล้านชุด
ย้ำว่าควรจะต้องแจกฟรี ให้ประชาชนตรวจเองได้ แต่หากตรวจเองไม่ได้ก็ให้อาสาสมัครช่วยตรวจ เมื่อมีผลเป็นบวกก็เข้าระบบรักษาตามขั้นตอนของผู้ป่วยตามอาการ ส่วนผู้ที่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้รัฐบาลก็ต้องมีชุดอุปกรณ์ส่งให้ถึงบ้าน ทั้งปรอทวัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ยาที่มีความจำเป็น เพราะขนาดสั่งของหรืออาหารแบบเดลิเวอรียังใช้เวลาไม่นาน ทำไมเราจะทำไม่ได้ เรามีเครื่องมือมากมาย แต่ที่รัฐบาลไม่ได้ทำก็ไม่เข้าใจว่าเหมือนกับเขาคิดไม่รอบคอบ หรือไม่เข้าใจปัญหาจริง
ส่งผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนา ผลักภาระให้ปลายทาง
อีกนโยบายที่อยากจะพูดถึงคือ “ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับภูมิลำเนา” เพื่อแก้ไขเตียงไม่พอในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังประกาศออกมาก็ขอค้านแล้ว มันไม่ได้
นี่คือการส่งเชื้อไปกระจายทั่วประเทศ บริหารจัดการแทบไม่ได้แล้วส่งเชื้อไปทั่วประเทศมันใช่หรือเปล่า เพราะในต่างจังหวัดโรงพยาบาลในอำเภอต่างๆ เล็ก เครื่องมือก็น้อย อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือบุคลากรมีน้อยมาก ไปเพิ่มภาระให้เขาเหมือนกับผลักให้ประชาชนไปตามยถากรรม ไปตายดาบหน้า ที่งงหนักคือนอกจากรถ ก็จะมีการใช้เครื่องบินนำส่งผู้ป่วยด้วย ถามว่าได้ดูที่ปลายทางหรือไม่ว่าลำบากกันแค่ไหน ไม่มีการเตรียมความพร้อมให้แต่ละจังหวัดเพื่อรองรับปัญหาได้ทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่แน่นอยู่แล้ว จะเพิ่มศักยภาพอย่างไรเมื่อไม่มีงบประมาณให้ รวมถึงศูนย์พักคอย ศูนย์เฝ้าสังเกตอาการ โรงพยาบาลสนาม ก็ไม่ได้ทำ แล้วจะเรียกว่าเตรียมพร้อมได้อย่างไร
ถ้าจะมีนโยบายแบบนี้ ต้องสั่งการและมีเงินงบประมาณให้แต่ละจังหวัดในการทำเตียงโรงพยาบาลสนาม ศูนย์เฝ้าสังเกตอาการ ถึงจะเรียกว่าพร้อมและรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาได้ แต่นี่เมื่อรับกลับไปโรงพยาบาลก็ไม่มีให้เข้า ศูนย์ก็ไม่พอ กลายเป็นตอนนี้ประชาชนเขาช่วยกันเองหมด
นโยบายนี้กลายเป็นการสร้างความโกลาหลและเพิ่มการระบาด เพิ่มยอดผู้ติดเชื้อกระจายไปทั้งประเทศ คอยดูพอกรุงเทพฯ คลี่คลายอีกสัก 2 เดือนปัญหาจะไปหนักอยู่ในต่างจังหวัด แก้ไม่จบ จะแก้แบบตามยถากรรมแบบนี้ไม่ได้แล้ว
ประชาชนต้องได้ฉีดฟรีและมีสิทธิเลือกวัคซีน
เรื่องของ
“วัคซีนทางเลือก” ที่ประชาชนต้องเสียเงินจองเพื่อจะได้ฉีดวัคซีน เรื่องนี้ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน เป็นอะไรนักหนาที่ไม่ยอมสั่งวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่กลับยังใช้อาวุธสมัยโบราณ เหมือนเอามีดดาบไปต่อสู้กับจรวด เชื้อใหม่มาเป็นแบบจรวด ติดกันง่ายมาก แล้วจะเอามีดดาบไปสู้ จะสู้ได้ไหม มันสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเร่งสั่งวัคซีน mRNA มาอีกอย่างน้อย 100 ล้านโดส สั่งตั้งแต่วันนี้ บวกกับแอสตราเซเนกา ก็จะยังไม่พอเลยสำหรับคนไทยที่ต้องฉีด 2 โดส และบางส่วนที่ต้องบูสเตอร์
มีทางเลือกให้เดินดีๆ ฉีด 2 เข็มแล้วจบ ก็อุตส่าห์พลิกแพลงจะซื้อซิโนแวคให้ได้ ทำไมจะต้องไปทำให้ประชาชนยากลำบาก แล้วเสียเงินเพิ่มเป็น 3 เข็ม และ
วัคซีนทางเลือกไม่ควรที่จะต้องเสียเงิน เราต้องมีสิทธิที่จะได้วัคซีนดีๆ ประชาชนต้องมี Choice of Vaccine ต้องมีสิทธิในการเลือกฉีดได้ ตอนนี้รัฐจัดหาไม่ได้เลยกลายเป็นเอกชนจัดหา เราก็เลยต้องเสียเงินแพงด้วยเพราะมีค่าหัวคิวกันเป็นทอดๆ ไป นี่คือเหตุผลที่ทำไมพรรคไทยสร้างไทยถึงรวบรวมประชาชนฟ้องรัฐบาล เพียงอยากให้เป็นบรรทัดฐานว่า 1. รัฐกำลังทำอันตรายต่อประชาชน 2. ลิดรอนสิทธิของประชาชน 3. ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากโรคติดต่อตามรัฐธรรมนูญ
“การฟ้องคือการปกป้องสิทธิของประชาชน ให้รัฐบาลตระหนักและรู้ว่าหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่มาเพิ่มความอันตรายให้กับประชาชน เช่น การจัดการฉีดวัคซีนแบบนี้ ชนิดวัคซีนที่เลือก หรือการบริหารจัดการสถานดูแลประชาชนที่ล้มเหลว จนทำให้ประชาชนต้องมานอนตายที่บ้านหรือตายกลางถนน นี่คือความล้มเหลวหมด เราจึงต้องฟ้องเพื่อให้มันเป็นบรรทัดฐานและรักษาสิทธิของประชาชน”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถ้ารวบอำนาจแล้วไม่มีปัญญาบริหารจัดการ อย่ารวบ
การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียวก็เป็นจุดสำคัญ ที่ปัญหาเป็นแบบนี้ไม่ใช่ความบกพร่องของแพทย์ พยาบาล หรือระบบสาธารณสุข เพราะระบบสาธารณสุขของไทยดีติดอันดับโลก แพทย์ พยาบาลของเราเก่งและเสียสละ แต่ระบบการตัดสินใจของฝ่ายบริหารต่างหากที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต้องยากลำบากแบบนี้ พูดเลยว่าวันนี้ต้องทะลุทะลวงคอขวดของระบบรัฐราชการที่เอามาบริหารจัดการในยามวิกฤติทิ้งทั้งหมด นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกฎหมายพิเศษ รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวทุกอย่าง กฎหมาย 33 ฉบับถือคนเดียว สั่งได้คนเดียว
ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รู้ แล้วทำงานแบบเต็มที่เต็มกำลังจริงๆ ก็จะใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เผอิญนายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าใจปัญหาจริงๆ ไม่ได้รู้จริงๆ แล้วก็ติดระบบราชการ เมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่กลับไปตั้งกรรมการ ตั้ง ศบค.ชุดใหญ่ ชุดเล็ก ศูนย์นั่นศูนย์นี่เต็มไปหมด ทำให้ Line of command ยาวมาก ยาวกว่าปกติ ไม่ทันต่อสถานการณ์ การบริหารสภาวะวิกฤติ (Crisis management) จำเป็นจะต้องให้ Line of command สั้นที่สุด การตัดสินใจและการสื่อสารต้องแม่นยำชัดเจนถึงจะบริหารได้ อีกทั้งการบริหารจัดการในระบบรัฐราชการที่ต้องยึดระเบียบปฏิบัติ แล้วก็สร้างระบบที่มาเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้าถึงการตรวจและการรักษาของประชาชนอย่างรวดเร็ว นี่เป็นการสร้างจากรัฐบาลทั้งสิ้น
“การที่นายกฯ รวบอำนาจแล้วไม่มีปัญญาบริหารจัดการ อย่ารวบอำนาจเลย ให้หน่วยงานเขาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ดีกว่า แต่หน่วยงานก็ไม่ได้มีอำนาจ ต้องคอยมองนายกฯ และนายกฯ เองก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาจริงๆ จังๆ ก็เลยเกิดปัญหาอย่างที่เห็น ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ถือทำลายคอขวดทั้งหมด คือ 1. การผูกขาดการนำข้าวัคซีน ยา ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ไม่ต้องกินหัวคิวกันแล้ว เวลานี้คนจะตายกันหมดแล้ว 2. เรื่องกฎระเบียบทั้งหลายที่ออกมา โดยเฉพาะระเบียบการจ่ายเงินเรื่องตรวจ รักษา ผู้ป่วยมีอาการแล้วก็ต้องรักษาหมด มันจะเออเรอร์บ้างก็ไม่เป็นไร”
ถ้าประชาชนไม่ทุกข์ คงไม่ออกมาชุมนุมเสี่ยงติดโรค
ส่วนการชุมนุมของประชาชนที่มีการเรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการของรัฐบาล รวมถึงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และบางส่วนแสดงออกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่ยังมีอย่างต่อเนื่องนั้น รู้สึกเห็นใจประชาชน วันนี้เขายากลำบาก และเหมือนกับผู้นำก็ไม่ฟัง ผู้นำที่ดีอย่างแรกคือขอให้ฟังเสียงความเดือดร้อน ความต้องการของพี่น้องประชาชน แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและอนาคตของเขา จนมาถึงเสียงของผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่เดือดร้อนจากมาตรการที่ปล่อยไปตามยถากรรมของรัฐบาลจนเกิดผลเสียทั้งในด้านของการควบคุมโรคและด้านเศรษฐกิจ
รัฐต้องฟังเสียง และเมื่อฟังแล้วต้องรีบปรับปรุงการทำงาน การแก้ไขปัญหา ให้ไปดักปัญหาได้ ไม่ใช่วิ่งตามปัญหาแบบนี้ รวมถึงต้องมีความเข้าใจ มีองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง อย่างเรื่องโรคระบาดก็ระบบระบาดวิทยา ต้องทุ่มเททำงาน เห็นความทุกข์ประชาชนเป็นความทุกข์ของตนเอง ถ้าประชาชนไม่ทุกข์เขาไม่ออกมาเสี่ยงติดโรค แต่เพราะทุกข์หนักมากแล้วถึงออกมาชุมนุมกัน แก้ได้ง่ายๆ คือรัฐบาลฟังเสียงแล้วก็รีบตั้งใจทำงานแก้ไขปัญหา
พร้อมทำงานในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” มั่นใจแก้ปัญหาได้
เมื่อถามว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และจะทำอย่างไรในสถานการณ์ตอนนี้หากได้ดำรงตำแหน่ง คุณหญิงสุดารัตน์ ตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า
“พร้อม” เพราะยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งความพร้อมในที่นี้คือ พร้อมที่จะทำงาน จะเอาความทุกข์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าพร้อมอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดเวลา 29-30 ปีทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นประชาชนยากแค้นแสนลำบากแบบนี้มาก่อน วันนี้เราเรียกว่าเป็นวิกฤติมหาวิกฤติของคนไทย ถ้ามีโอกาสแน่นอนว่าอยากทำงาน อยากจะใช้ความรู้และความทุ่มเทตั้งใจของตัวเองในการแก้ไขปัญหา เพราะมองว่าไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงในการที่จะทุ่มเททำแล้วแก้วิกฤตินี้
มั่นใจว่าถ้าเราทุ่มเทสรรพกำลังสามารถที่จะหาวัคซีน mRNA ให้ประชาชนได้อย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส ที่จะนำมาผสมกับแอสตราเซเนกาอีก 5-6 ล้านโดส ให้ฉีดประชาชนได้ครบทุกคนในปีใหม่นี้อย่างน้อย 1 เข็ม และ ม.ค. ก็ครบ 2 เข็ม นี่คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยทำได้ ส่วนเรื่องของการควบคุมการระบาด แยกตัวผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา ไม่ใช่เรื่องยาก วันนี้ภาคประชาชนช่วยกันเต็มที่เข้มแข็ง เราก็สามารถทำงานกับภาคประชาชนเพื่อดำเนินการควบคุมโรคให้จบ
“ถ้าได้มีโอกาสทำงาน จะไม่ยอมปล่อยให้มีคนตายคาบ้าน หรือตายกลางถนน จะเร่งทำในเรื่องของการตรวจหาผู้ติดเชื้อ จะตรวจให้ได้วันละ 1 ล้านคนเลยด้วยซ้ำไป ซึ่งวิสัยของเราทำได้ ศักยภาพเราทำได้ ภาคประชาชนและระบบสาธารณสุขเราเข้มแข็ง ถ้าเราส่งเสริมให้ถูกทิศถูกทาง ส่วนเรื่องการทำศูนย์เฝ้าสังเกตอาการเตียงเขียวหรือโรงพยาบาลสนาม มีเยอะแยะไปหมด โรงเรียนทุกแห่งปิด ค่ายทหารก็มีเยอะ ก็ต้องแปลงสภาพอาคารเหล่านี้มาดูแลผู้ป่วยให้มากที่สุด
ถ้าวันนี้ตัวเองเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จะทำอะไร ก็จะทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำ ณ ปัจจุบันนี้ทั้งหมด เพราะว่ามันยิ่งทำให้ประชาชนยากแค้นไปมากมาย อย่างเช่นการล็อกดาวน์โดยไม่ตรวจหาผู้ติดเชื้อและนำเข้าระบบ มันไปซ้ำเติมเศรษฐกิจ ทำให้เกิดโรคมากขึ้นด้วย เพราะไม่มีการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ แล้วเศรษฐกิจก็แย่”
ขณะที่เป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วัน ก็มองว่า
“ไม่มีทาง” 120 วันที่นายกรัฐมนตรีประกาศ แค่ภาวนาให้ช่วง ต.ค. ควบคุมการระบาดให้ได้เสียก่อนเถิด ยืนยันว่าถ้ายังฉีดตามแผนของรัฐบาลไม่มีทางเปิดประเทศได้ แต่ถ้าทำตามแผนพิมพ์เขียวที่เสนอ สิ้นปีนี้จะฉีดครบ 1 เข็มทุกคน ม.ค. 2565 ก็ครบ 2 เข็ม
รัฐบาลต้องฟังเสียงร้องไห้ประชาชน และช่วยให้พ้นวิกฤติ
สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลโปรดฟังเสียงร้องไห้ของประชาชนบ้างเถิด ว่าประชาชนทุกข์ยากทุกหย่อมหญ้าแล้ว ทั้งโรคภัย โรคติดต่อที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ต่อสุขภาพ แล้วยังเดือดร้อนจากเรื่องการทำมาหากิน ปากท้อง รายได้ที่ไม่มี อย่างวินมอเตอร์ไซค์ที่เสียชีวิต เขารู้ว่าตัวเขาเจ็บแต่หยุดไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายปากท้องที่รอเขาอยู่ ต้องฝืนออกมาทำงานจนเขาฟุบเสียชีวิตริมถนน และอีกหลายๆ เคส จึงอยากให้รัฐบาลได้ฟังเสียงร้องไห้ของประชาชน ส่วนตัวอยากมีมนตร์วิเศษให้เขาคิดได้และลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา ใช้ศักยภาพของความเป็นรัฐบาล อำนาจที่มี กฎหมายพิเศษที่มี งบประมาณที่เพิ่งกู้มาอีก 500,000 ล้านบาท และกำลังจะกู้อีก 100,000 กว่าล้านบาท นำมาใช้ให้ถูกทิศถูกทาง สนับสนุนให้โรงพยาบาลต่างๆ มีกำลังการรักษาเต็มที่ ไม่ใช่ให้ภาระไปอย่างเดียว
“รัฐบาลต้องเห็นว่าวันนี้ไม่ใช่เวลาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต้องรวมสรรพกำลังทุกคนมาช่วยนำพาประชาชนชาวไทยออกจากมหาวิกฤติครั้งนี้ให้ได้”
ส่วนพี่น้องประชาชนอยากให้กำลังใจ รู้ว่ายามนี้คือยามที่ประชาชนทุกข์ยากมากที่สุด เหมือนกับถูกโดดเดี่ยว ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ ต้องเข้าคิวรอตรวจหาเชื้อ ต้องไปแน่นขนัดเพื่อที่จะฉีดวัคซีนป้องกันให้ตัวเองได้มีชีวิตอยู่ ได้ทำงานหารายได้เลี้ยงคนในครอบครัว ทราบว่าทุกคนเหนื่อยหนัก และมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่อยากจะให้กำลังใจ ให้ทุกคนยังมีกำลังใจ ต้องสู้ต่อไป คิดว่าในสภาพแวดล้อมที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้ แต่เรายังมีประชาชน มีอาสาสมัคร และอีกหลายๆ คนที่มาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยากให้รู้ว่าคนไทยวันนี้เป็นเวลาที่จะต้องสามัคคีและช่วยกัน จึงอยากให้ทุกคนมีกำลังใจ สู้เพื่อคนที่เรารัก และสู้เพื่อชีวิตของเราต่อไป.
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Theerapong Chaiyatep

Related Keywords

Thailand , United States , Roma , Lazio , Italy , United Kingdom , Geneva , Genè , Switzerland , China , Oregon , Russia , Toronto , Ontario , Canada , London , City Of , Phrae , Chinese , Soviet , Prayuth Chan , A Prayuth Chan , Greg Hughes , Thaksin Shinawatra , Ministry Defence , Public Health , Public Health Thailand , Fast Company , National Day , Alcoa , Sebastopol Boone Ravens , Free Everyone , Shatter Neck , Maha Crisis , Center Road , Phrae Province , President Minister , Alcoa David , Alcoa The Metamorphosis , General Motors , Buy Direct , Great City , Last Hospital , Sue Station , Free , Londonx News , Medium Last , Province Hospital , Gan Chinese , States Rally , Green Hospital , Hospital Various , தாய்லாந்து , ஒன்றுபட்டது மாநிலங்களில் , ரோமா , லேஸியோ , இத்தாலி , ஒன்றுபட்டது கிஂக்டம் , ஜிநீவ , சுவிட்சர்லாந்து , சீனா , ஓரிகந் , ரஷ்யா , டொராண்டோ , ஆஂடேரியொ , கனடா , லண்டன் , நகரம் ஆஃப் , சீன , சோவியத் , பிரயுத் சான் , கிரெக் ஹக்ஸ் , அமைச்சகம் பாதுகாப்பு , பொது ஆரோக்கியம் , பொது ஆரோக்கியம் தாய்லாந்து , வேகமாக நிறுவனம் , தேசிய நாள் , அல்கோவா , இலவசம் எல்லோரும் , மஹா நெருக்கடி , மையம் சாலை , ப்ரெஸிடெஂட் அமைச்சர் , ஜநரல் மோட்டார்கள் , வாங்க நேரடி , நன்று நகரம் , இலவசம் , மாகாணம் மருத்துவமனை , பச்சை மருத்துவமனை ,

© 2024 Vimarsana

vimarsana.com © 2020. All Rights Reserved.